สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน หลายท่านคงมีความกังวลว่า จะต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างไรให้ถูกวิธี เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนย้ายร่างกายใช้ชีวิตประจำวันได้เอง จำเป็นต้องมีคนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นควรศึกษาวิธีการและทำความเข้าใจถูกต้อง เพื่อฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยให้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดกันก่อนครับ
ผู้ป่วยติดเตียงมีปัญหาอะไรบ้าง
การดูแลเป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งที่คนเฝ้าครอบครัวควรรู้และเอาใจใส่กับผู้ป่วยติดเตียงเป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยปะละเลยหรือดูแลได้ไม่ดี อาจจะมีปัญหาตามมาหลักๆเลย เช่น
- การเกิดแผลกดทับ
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดติดเชื้อ
- รับประทานอาหารได้ลำบาก
มีวิธีการดูแลอย่างไร
การจัดท่านอน
ต้องพลิกตัวผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง เปลี่ยนท่านอนใหม่ เช่น นอนหงาย พลิกตะแคงซ้าย-ขวา เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ หรือใช้อุปกรณ์เสริมรองตัวผู้ป่วยติดเตียง เช่น ที่นอนลม ที่นอนเจล เบาะเจล หรือหมอนนุ่มรองอีกชั้น เพื่อช่วยลดการกดทับได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่อเกิดแผลกดทับขึ้นมา จะลำบากทั้งคนไข้และครอบครัว ทำให้ติดเชื้อจากแผลกดทับ และทำให้แผลลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก
การเลือกรับประทานอาหาร
การรับประทานอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน หรือปัญหาในช่องปากต่างๆ ทำให้กลืนยาก หรือจำเป็นต้องเจาะทางเดินอาหารใหม่ ผู้ดูแลต้องยกตัวผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งโดยใช้หมอนหนุนหลัง หรือปรับเตียงเอียงขึ้นให้พอนั่งได้ แล้วค่อยๆป้อนอาหาร ให้ผู้ป่วยเคี้ยวจนละเอียดและเคี้ยวให้นาน หากมีอาหารสำลักให้หยุดป้อนอาหารทันที ถ้าหากสำลักอาหารอาจทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจ หรืออุดกั้นทางเดินหลอดลม จนทำให้ขาดอากาศหายใจถึงขั้นแก่ชีวิต
ส่วนการเลือกอาหาร ควรเลือกอาหารที่กลืนง่าย ย่อยง่าย เช่นโจ๊ก ข้าวต้ม ซุปเห็ด ปลานึ่ง นอกจากเลือกอาหารที่เคี้ยวง่ายแล้ว ยังต้องเลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินหลากหลาย ไม่จำเจ และหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่ด้วย เช่น เบาหวาน ความดัน
การทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วย
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องทำกิจกรรมต่างๆบนเตียง โดยเฉพาะการอาบน้ำ เช็ดตัว สระผมหรือขับถ่าย อุปกรณ์รถเข็นเคลื่อนย้าย ออกมาเพื่อช่วยให้ผู้ดูแลสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอาบน้ำ ขับถ่ายในห้องน้ำหรือจะเลือกขับถ่ายบนตัวรถได้ด้วย
การขับถ่าย
เนื่องจากผู้ป่วยต้องนอนติดเตียงทั้งวันทั้งคืน การทำความสะอาดร่างกายเช่น อาบน้ำ แปรงฟันหรือขับถ่าย ต้องทำอยู่บนเตียงนอน สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ จำเป็นต้องเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ทุกๆ 2-4 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่ ผู้ดูแลต้องหมั่นข้อสังเกตหากผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออก มีสีขุ่นข้นหรือมีกลิ่นเหม็น หรือเมื่อขับถ่ายอุจจาระมีสีดำ อาจจะมีเลือดออกทางเดินอาหาร ถ่ายไม่ออกหรือหากท้องเสียให้สังเกตอาหารที่ทานนั้นสะอาดหรือไม่ และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ หากปล่อยปะละเลยยิ่งมีโอกาสทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นกว่าเดิม
เนื่องจากผู้ป่วยติดเตียงเคลื่อนย้ายตัวลำบาก จึงต้องอาบน้ำหรือขับถ่ายอยู่บนเตียง ควรเช็คตัวหรือสระผมให้ผู้ป่วย วันเว้นวันหรืออาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง และไม่ควรปล่อยให้ปัสสาวะหรืออุจจาระค้างอยู่ในแพมเพิร์สเยอะหรือนานเกินไป ซึ่งมีโอกาสให้ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ ควรตรวจเช็คและเปลี่ยนแพมเพิร์สให้ผู้ป่วยเสมอ
ทำความสะอาดช่องปาก
เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ควรให้ผู้ป่วยบ้วนปากหลังทานอาหารทุกมื้อ (ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกออฮอลผสมอยู่) และควรเช็ดทำความสะอาดช่องปากให้ผู้ป่วย เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย และยังช่วยลดความเสี่ยงจากาปอดอักเสบอีกด้วย
ผู้ป่วยเจาะคอ
ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเตียงต้องเจาะคอในช่วงสัปดาห์แรก แพทย์จะคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่ท่ออาจจะหลุดออกมาง่าย และเมื่อต้องกลับไปรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ผู้ดูแลต้องจัดท่านอนให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก และหมั่นล้างท่อก่อนนำมาใช้งานอีกครั้ง จำเป็นต้องต้มฆ่าเชื้อด้วยน้ำต้มสุก ทำบ่อยๆทุกๆ 1-2 วัน สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ท่อหลอดลมหลุด ผู้ป่วยหายใจลำบาก รู้สึกหอบ เหนื่อย บริเวณที่เจาะมีลักษณะบวม แดง หรือมีหนอง หากร้ายแรงอาจะมีเลือดออกจากท่อหลอดลม ให้รีบไปพบแพทย์ทันที อาจเกิดการอุดตันของท่อ ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้เครื่องดูดเสมหะร่วมด้วย ควรล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน แล้วทำให้สายแห้งและใช้ผ้าขนหนูห่อไว้ก่อนนำมาใช้งาน
ผู้ที่เจาะคอเริ่มแรกอาจจะมีปัญหาในการทานอาหาร
ให้เริ่มจากการจิบน้ำ และเลือกทานอาหารอ่อนก่อนให้ระยะแรก
สภาพแวดล้อม
ควรเลือกสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก จัดวางของให้เป็นระเบียบ เผื่อในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติ จะได้เคลื่อนย้ายตัวได้สะดวกในกรณีฉุกเฉิน
เลือกเตียงนอนที่มีความสูงพอเหมาะ และมีพื้นที่เพื่อพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย หรือเลือกใช้ที่นอนเบาะลมหรือมีหมอน เบาะนิ่มเพื่อลดโอกาสที่กระแทกหรือกดทับได้โดยตรง
สรุปการดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีอะไรบ้าง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการการดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่ใช่เพียงเรื่องวิธีการดูแล แต่ยังขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของคนเฝ้าและครอบครัวทุกคน ไม่ใช่เพียงคนเดียว ควรหมั่นดูแลผู้ป่วยและคอยสังเกตอาการ ทั้งการรับประทานอาหาร ทำความสะอาดร่างกาย การจัดท่านอนและสภาพแวดล้อม หรือทำกายภาพบำบัดเล็กน้อยเพื่อให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟู ซึ่งหากมีอาการผิดปกติใดๆต่างไปจากเดิม ควรรีบนำไปพบแพทย์ทันที