การหกล้มอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับวัยรุ่น แต่สำหรับผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องร้ายแรงอันตรายมากกว่าวัยอื่นๆและมันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งภายในบ้านของเราเอง การหกล้มส่วนใหญ่มาจากการสูญเสียการทรงตัว ลื่นในห้องน้ำ สะดุดขั้นบันไดหรือมีสิ่งของวางไว้เกะกะ อาจจะบาดเจ็บเล็กน้อยไปหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นเราต้องศึกษาวิธีป้องกันการหกล้มไม่ให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในบ้านของเรานะครับ
สารบัญเนื้อหา
วิธีป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
วิธีป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม
- อุปกรณ์เสริม
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง
- ไม่งดอาหาร ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อเพิ่มยืดหยุ่น เช่น การรำมวยจีน ฝึกโยคะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป เมื่อต้องใช้ยาควรรับคำปรึกษาและใช้ยาจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาทานเอง
- ระหว่างที่ปรับเปลี่ยนท่าทางให้ค่อยๆลุกหรือยืนขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หน้ามืดหรืออาจจะมีเสียงดังมาจากกระดูก
- เลือกรองเท้าให้เหมาะสม สวมใส่สบายพอดี พื้นเตี้ย มีพื้นกันลื่น และไม่ควรสวมส้นสูง
- หากรู้ว่าทรงตัวได้ไม่ดีเวลายืนให้เกาะผนังหรือเก้าอี้ช่วยทรงตัวให้ดีขึ้น
- ตรวจสุขภาพประจำปีโดยเฉพาะปัญหาด้านสายตา การได้ยิน การทรงตัว กระดูกและข้อเสื่อม การตอบสนองของระบบประสาท อาการปวดแขน ไหล่ เหล่านี้มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม
- ไม่วางของเกะกะ เก็บสายไฟ ข้าวของเครื่องใช้เข้าที่ให้เรียบร้อย
- ไม่เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์บ่อยให้อยู่บริเวณที่จำเป็นโดยเฉพาะเตียงนอน โต๊ะ เก้าอี้
- เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีความแข็งแรงให้เหมาะกับรูปร่างขนาดตัวของผู้สูงอายุ ไม่เตี้ยหรือสูงจนเกินไป
- ติดตั้งหลอดไฟในบริเวณมุมมืดที่เดินผ่านบ่อยๆ เพื่อเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ
- ติดแผ่นกันลื่นบริเวณที่เสี่ยงล้ม และควรติดกาวสองหน้าใต้พรมเช็ดเท้าหรือเลือกใช้พรมเช็ดเท้ากันลื่น
- เลือกพื้นที่ไม่ลื่น เรียบ เสมอ ไม่ควรมีพื้นที่ทางต่างระดับ โดยเฉพาะธรณีประตู กระเบื้องห้องน้ำควรมีลวดลายบนกระเบื้องใช้วัสดุเนื้อหยาบช่วยเพิ่มแรงเสียดทานในการเดิน
- ในห้องน้ำควรมีเก้าอี้พลาสติกไว้นั่งขณะอาบน้ำ
- ถ้าพื้นบ้านชำรุด ควรรีบซ่อมแซมป้องกันสะดุดหกล้ม
- บริเวณบันได ห้องน้ำ ผนังทางเดินควรมีราวจับตลอดทาง
- หากมีน้ำหรืออาหารหกบนพื้น ควรรีบทำความสะอาดให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เผลอเหยียบหรือลื่นล้ม
- มีสวิตเปิด-ปิดอยู่ใกล้หัวเตียงหรือที่สามารถเอื้อมถึงได้
- วางของที่ใช้บ่อยในระดับเอว ไม่ควรวางไว้บนชั้นเหนือศีรษะทำให้ไม่สะดวกต่อการหยิบ
- สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์เป็นประจำควรทำทางลาดตามทางบันไดให้มีความชันไม่เกิน 5 องศา และทางลาดยาวไม่เกิน 6 เมตร
อุปกรณ์ตัวช่วยเสริมป้องกันการหกล้ม
- โครงเหล็ก 4 ขา
- ไม่ค้ำยันหรือไม่เท้า
- มีราวจับบันไดสำหรับขึ้นลง
- ราวจับหรือที่เท้าแขนภายในห้องน้ำ
- เก้าอี้พลาสติกแข็งแรง สำหรับนั่งอาบน้ำในห้องน้ำ
กายบริหารเพื่อป้องกัันการหกล้มในผู้สูงอายุ
นอกจากวิธีป้องกันไม่ให้หกล้มแล้ว การออกกำลังกายยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและระบบในร่างกายลดอาการเสื่อมลงด้วย
มาดูกันดีกว่าครับ ท่าบริหารสำหรับการป้องกันการหกล้มต้องทำอย่างไรบ้าง
ผลเสียจากการหกล้ม
ถ้าหกล้มที่ไม่รุนแรงมากมีแค่แผลถลอกปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็จะดีขึ้น แต่เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนเมื่อหกล้มจึงเกิดการแตกหักได้ง่าย บางคนต้องเข้ารับการผ่าตัดซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกปวด เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่หรือลุกเดินไม่ได้
หากศีรษะได้รับบาดเจ็บ มีการกระแทก กระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจะทำให้เกิดอาการเลือดคั่งในสมองต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดมีความเสี่ยงร้ายแรงถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิต
หรืออาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงสาเหตุบางโรคที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมสอง พาร์กินสัน โรคปลายประสาทเสื่อม หรือโรคอื่นๆที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว
เราไม่รู้เลยว่าเพียงแค่การหกล้มจะเกิดผลร้ายตามมาถึงขนาดนั้น เสียทั้งสุขภาพ เงิน การงาน และยังเป็นปัญหาของครอบครัวที่ต้องดูแล
เพราะฉะนั้นหากเกิดอุบัติเหตุหรือหกล้ม เบื้องต้นให้สำรวจก่อนว่าบาดเจ็บตรงไหนหรือไม่ หากบาดเจ็บรุนแรงไม่ควรให้ลุกขึ้นเองทันทีเพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อน แต่ถ้ามีรอบถลอกนิดหน่อยสามารถลุกได้เองแล้วควรไปพบแพทย์ภายหลังเพื่อทำการรักษาให้ถูกต้อง อย่าเห็นว่าไม่สำคัญแล้วปล่อยปะละเลยนะครับ
หกล้มมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามวัยผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายเริ่มเสื่อมลง มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเรื่องการทรงตัว ขาอ่อนแรง อ่อนเพลียง่าย ปัญหาสายตา สายตายาว ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม ทำให้กะระยะทางหรือมองไม่เห็นสิ่งของที่อยู่ข้างหน้าอาจสะดุดล้มได้
มีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิต เบาหวาน พาร์กินสัน ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องตัวและมีความเสี่ยงหกล้มได้ง่าย ซึ่งจำเป็นต้องรับประทานยาจำนวนมาก เช่น ยานอนหลับ ยาลดความดัน ยาโรคซึมเศร้า ยากล่อมประสาทที่ส่งผลข้างเคียงรู้สึกเวียนหัว หน้ามืด หรือสูญเสียการทรงตัว
การจัดวางสิ่งของภายในบ้านไม่ดี วางสิ่งของเกะกะขวางทางหรืออาจจะอยู่ในที่สูงหรือต่ำเกินไป มีแสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นลื่น ขรุขระ โดยเฉพาะในห้องน้ำ พรมเช็ดเท้าและสายไฟเป็นเหตุให้หกล้มบ่อยที่สุด
สรุปวิธีป้องกันผู้สูงอายุหกล้ม
จากที่กล่าวมาการหกล้มในผู้สูงอายุเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่าย กระดูกหรือศีรษะอาจจะได้รับการกระทบกระเทือนเป็นเหตุทำให้พิการหรือเสียชีวิต ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากการทรงตัว ปัญหาสุขภาพมีโรคประจำตัวหรือผลข้างเคียงจากยารวมถึงการจัดวางสิ่งของภายในบ้านเกะกะ ดังนั้นเราสามารถป้องกันการหกล้มได้เพียงทำตามคำแนะนำข้างต้น