มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนในครอบครัวกังวลเป็นอย่างมากกับผู้สูงอายุ คือ “ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงดีเมื่อผู้สูงอายุเบื่ออาหาร?” หากปล่อยไว้นานเกิดอาจจะทำให้น้ำหนักลด หรือ อ่อนเพลีย หรืออาจจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคร้ายบางอย่างได้เช่นกัน ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจและ หาแนวทางเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทานข้าวได้ปกติกันดีกว่าครับ
สารบัญเนื้อหา
อาหารสำหรับผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
เมนูอาหารสำหรับผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหาร
ความรุนแรงของภาวะเบื่ออาหารมักจะพบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้ลูกหลานมีความกังวลตามมา
- ทานข้าวได้น้อยลง
- อิ่มเร็วกว่าเดิม
- น้ำหนักลด
- ร่างกายผอมลง
- อ่อนเพลีย
หรือผู้สูงอายุบางคนอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องผูก ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ เครียดจนคิดอยากจะฆ่าตัวตาย เป็นต้น และจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีความรู้สึกเจ็บป่วยอยู่ในขณะนั้นด้วย
ทำไมผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
ปัจจัยทางร่างกาย
ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีการทำงานหลายๆอย่างเริ่มเสื่อมลง เช่น มีต่อมรับรสและความสามารถในการแยกแยะรสหวาน เค็ม เปรี้ยว หรือขมได้น้อยลง หรือถึงขั้นไม่สามารถรับรสอาหารได้เลย จึงทำให้การรับรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิม แล้วจะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย
ประสาทสัมผัสทำงานแย่ลง เช่น ตา หู จมูก หรือลิ้น ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ทำให้เราไมค่อยอยากกินอาหารเท่าไหร่ อีกทั้งผู้สูงอายุไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าไหร่ จึงทำให้ไม่อยากทานอาหาร
ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง เพราะกระเพาะอาหารขยายใหญ่ได้ไม่มากและลำไส้บีบตัวลง ทำให้อาหารย่อยยากและมีอาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้นานขึ้น จึงเกิดอาการ ท้องผูกหรืออาหารไม่ย่อย
มีปัญหาสุขภาพในช่องปากเป็นเชื้อราที่ลิ้นหรือในช่องปาก ฟันหัก ผุ บิ่น รู้สึกปวดฟันหรือเหงือกในระหว่างที่เคี้ยวอาหารจึงมักอยากจะหลีกเลี่ยง รู้สึกไม่อยากกินข้าว หรือผู้สูงอายุบางคนจำเป็นต้องใส่ฟันปลอม ซึ่งอาจจะทำให้รับประทานอาหารไม่สะดวก
ผู้สูงอายุบางคนอาจจะป่วยเป็นไขหวัด ไอ จามหรือมีการสำลักอาหารทำให้น้ำขึ้นจมูก ที่มีสาเหตุ มากจากการอุดตันของหลอดอาหารตีบ ตัน หรือมีเนื้องอก เมื่อทานอาหารเข้าไปแล้วรู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่หน้าอก
ปัจจัยจากยา
โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง จำเป็นต้องทานยาเป็นจำนวนมากและบ่อย ส่งผลให้การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติของอาหารเปลี่ยนไป หรือยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
ปัจจัยทางจิตใจ
ผู้สูงอายุบางคนอาจจะมีความกังวล เครียดหรือเรื่องไม่สบายใจจนทำให้มีอาการ ของโรคซึมเศร้า หรือไม่มีคนทานอาหารเป็นเพื่อน ต้องกินคนเดียวเป็นประจำจึงรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ทำให้เกิดผู้สูงอายุเบื่ออาหารและทำให้ความอยากอาหารลดลงมากกว่าเดิม
ปัจจัยจากโรคประจำตัว
แน่นอนว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องมีโรคประจำตัว ซึ่งโรคบางอย่างอาจจะทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร โรคเกี่ยวกับกระดูกหรือเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้การรับประทานอาหารเป็นไปได้ยาก เพราะเคี้ยวหรือกลืนได้ไม่สะดวก จนไม่อยากทานอาหาร
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งจำเป็นต้องทำการฉายแสง เคมีบำบัด หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งการรักษาเหล่านั้นจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ กลืนลำบาก การรับรสเปลี่ยนไป ท้องผูก หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือปอด จะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์มักลืมความหิวหรือลืมว่าตนเองยังไม่ได้ทานอาหาร
แม้กระทั่งป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา หายใจไม่สะดวกจนทำให้ประสาทในการรับกลิ่นได้น้อยลง
สาเหตุอื่นๆ
อาหารเป็นพิษเพราะร่างกายได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนกับอาหารที่ทานเข้าไป ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารและพะอืดพะอมอยู่ตลอดเวลา
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น จึงสามารถทานอาหารได้แค่บางเมนูหรือมีแต่เมนูอาหารเดิมๆ ทำให้รู้สึกเบื่อและไม่อยากทาน
อากาศร้อนทำให้รู้สึกกระหายน้ำบ่อย จึงกินน้ำเยอะทำให้รู้สึกอิ่มท้อง แล้วรับประทานอาหารได้น้อยลง
ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นเป็นสาเหตุ ที่ผู้สูงอายุไม่กินข้าว ดังนั้นคนในครอบครัวจึงต้องสังเกตว่า “อะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร?” แล้วจึงค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้สูงอายุอยากทานอาหารเช่นเดิม เพราะถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกไม่สบายตัวหรือมีอาการ ป่วยอื่นๆตามมา
ผู้สูงอายุเบื่ออาหารทำไงดี
หลังจากที่เราสังเกตไปและรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ดังนั้นเรามาดูวิธีที่จะทำให้ผู้สูงอายุทานข้าวได้มากกว่าเดิม
- หากผู้สูงอายุที่มีการรับรู้รสเปลี่ยนไป ควรทำอาหารรสชาติเฉพาะให้พอดีและให้เหมาะกับความชอบของแต่ละคน หรือใส่สมุนไพร ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมความน่าสนใจให้อาหาร เช่น อบเชย โหระพา ออริกาโน่ โรสแมรี่หรือยี่หร่าเป็นต้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้อยากอาหารมากขึ้น
- หมั่นตรวจสุขภาพช่องปากและฟันประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันฟันผุ หัก แตก หรือแก้ไขฟันปลอมให้พอดีกับเหงือก ที่สำคัญถ้ามีปัญหาในช่องปากแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปาดที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือใช้น้ำเกลือแทน
- เนื่องจากผู้สูงอายุต้องเน้นทานอาหารประเภทอ่อน นุ่ม เคี้ยวง่าย ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนหรือคิดค้นเมนูอาหารให้เหมาะสมและหลากหลาย เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารหรือได้ทานแต่เมนูเดิมๆ
- ให้แยกเป็นมื้ออาหารหลายมื้อและทานให้บ่อยขึ้น โดยแยกเป็นมื้อหลัก 3 มื้อ และมื้อเสริมอีก 2 มื้อ และระหว่างมื้อให้มีผลไม้ด้วย วิธีนี้ดีจะช่วยเพิ่มให้ความอยากอาหารกับผู้สูงอายุที่มักไม่ชอบอาหารครั้งละเยอะๆและมื้อเล็กๆนี้จะช่วยให้รู้สึกอิ่ม
- ให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเบาๆบ้าง เพื่อให้ได้ใช้พลังงานแล้วจะทำให้รู้สึกหิวได้บ้าง
- ถ้าคิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือใช้ยามากเกินไปเป็นเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร ให้นำยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดูเพื่อปรึกษาแล้วแพทย์จะหาทางแก้ไขหรือเปลี่ยนตัวยาให้ใหม่
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่าปล่อยให้ผู้สูงอายุทานข้าวคนเดียว ควรหาเพื่อนหรือคนในครอบครัวมารับประทานอาหารร่วมกับผู้สูงอายุเป็นประจำและบ่อยๆ จะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นและรู้สึกว่ามีเพื่อน ไม่เหงาหรือโดดเดี่ยว ยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่นและอยากอาหารมากขึ้น
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว แนะนำให้ดื่มน้ำหนึ่งแก้วก่อน-หลังทานอาหาร1ชั่วโมง เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร แต่อย่าดื่มน้ำก่อนทานข้าวมากเกินไปเพราะจะทำให้รู้สึกอิ่มน้ำและลดความอยากอาหารลง
ที่สำคัญต้องรู้ว่า เมนูโปรดของผู้สูงอายุคืออะไร เพื่อจะได้ทำเมนูนั้นให้รับประทานแต่ต้องเปลี่ยนเมนูให้หลากหลาย ไม่จำเจเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารมากกว่าเดิม
หากลองทำตามวิธีแนะนำข้างต้นแล้ว ผู้สูงอายุยังทรมานกับการกินข้าวไม่ได้ รู้สึกเบื่ออาหารเหมือนเดิม อ่อนเพลีย หรือน้ำหนักลด ให้ไปปรึกษาและพบแพทย์เพื่อแนะนำแนวทางหรือให้ยากระตุ้นความอยากอาหารมาทาน
เมนูอาหารหรับผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
เน้นปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว ใช้เครื่องเทศหรือสมุนไพร เพื่อเพิ่มความสดชื่น แต่ระวังอาหารรสจัดเกินไป เลือกเป็นประเภทน้ำหรืออาหารที่ย่อยง่ายที่มีลักษณะอ่อน นุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น เนื้อไก่ที่ไม่มัน เนื้อปลา ให้นำมานึ่ง ต้ม ตุ๋น แกง สลับสับเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดความหลากหลาย และที่สำคัญต้องมีคุณค่าให้ครบ 5 หมู่ด้วย
เลือกทานโปรตีนให้ปริมาณที่พอเหมาะวันละ 1กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและให้พลังงานสูง
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง ประเภททอด อาหารรสจัด หมักดอง เนื้อสัตว์ติดมัน หากให้ใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ ถ้าเป็นน้ำผลไม้ไม่ควรใส่น้ำตาลมากเกินไปเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ตัวอย่างอาหารสำหรับผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
ต้มมะระยัดไส้หมูสับ ต้มยำปลา แกงส้มปลาทู แกงส้มผักรวม ปลานึ่งซีอิ๋ว ปลากะพงทอดน้ำปลา ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ เกี๊ยวน้ำจับฉ่าย เต้าหู้หลอด เป็นต้น ส่วนของหวาน เช่น เค้กส้ม ข้าวเกรียบปากหม้อ ตะโก้ มะม่วงสุก เป็นต้น
สมุนไพรช่วยให้อยากอาหาร
- บอระเพ็ด น้ำมาโขลกให้ละเอียดและคั้นน้ำดื่มเช้า-เย็น แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะอาจส่งผลเสียต่อตับและไตได้
- สะเดา ให้นำยอดอ่อนและดอกมาทานกับน้ำพริก
- ขี้เหล็กให้นำใบ ยอดอ่อน และดอกมาต้ม หรือนำไปประกอบอาหารอย่างอื่นเพื่อช่วยเรียกน้ำย่อย
- ฟ้าทะลายโจร นำใบไปตากแห้งแล้วบดเป็นผง หรือใช้แบบสำเร็จรูปอัดเม็ดก็ได้ แนะนำให้ทานก่อนอาหาร
- ขิง เคี้ยวสดหรือหรือต้มเป็นชา แนะนำให้ดื่มก่อนทานอาหาร
หากต้องการรับประทานอาหารให้มากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารน้อยลง โดยไม่ต้องพึงยาเสริมอาหาร แนะนำให้เลือกทานสมุนไพร ที่เน้นช่วยให้เจริญอาหาร หรือเพิ่มน้ำหนัก และที่สำคัญยังไม่ส่งผลเสียหรือข้างเคียงเหมือนอาหารเสริมอีกด้วย
สรุปคำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุเบื่ออาหาร
สำหรับผู้สูงอายุเบื่ออาหารอยู่ตอนนี้ แนะนำให้หาสาเหตุ ที่ผู้สูงอายุไม่กินข้าวและอะไรเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ไม่อยากอาหาร เพราะหากปล่อยไว้นานผู้สูงอายุอาจจะอ่อนเพลีย น้ำหนักลด ลงหรือร่างกายไม่แข็งแรง ดังนั้นเมื่อเจอต้นตอแล้วให้ปรับเปลี่ยนและแก้ไขตามวิธีที่แนะนำเบื้องต้น