คนส่วนใหญ่มีความกังวลมากมายเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ทั้งเรื่องครอบครัว เงิน งานและสุขภาพของตนเอง ด้วยความที่เป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะความรู้สึกจะเปราะบางเป็นพิเศษ คิดว่าตัวเองเป็นภาระเสมอ ส่งผลให้สุขภาพจิตและร่างกายย่ำแย่ลงไปด้วย แต่การยอมรับและเห็นความสำคัญของตนเองช่วยสร้างความมั่นใจ ส่งผลให้จิตใจรู้สึกกระชุ่มกระชวยเหมือนตอนเป็นหนุ่มสาว
สารบัญเนื้อหา
วิธีทำให้ผู้สูงวัยมีความสุข
มาดูกันดีกว่าครับว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุต้องทำอย่างไร?
- ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
- ทำกิจกรรมสร้างสรรค์
- อยู่กับครอบครัว
- ทำกิจกรรมที่ชอบ ทำสิ่งที่ตนเองรัก
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เล่นเกมฝึกสมอง
- รู้จักปล่อยวาง คิดแต่สิ่งดีๆ
รู้จักยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ เช่น สูญเสียบุคคลในครอบครัว สูญเสียอวัยวะบางส่วน ความทรงจำเลือนหาย ลูกหลานแยกย้ายไปมีครอบครัวหรือทำงานในเวลากลางวัน ต้องอยู่คนเดียว บางคนทำใจยอมรับไม่ได้ ถึงขั้นทะเลาะขัดแย้งกับคนในครอบครัว จนทำให้วิตกกังวล เกิดความเครียด
หากปล่อยให้เป็นนานๆมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ทุกคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือญาติพี่น้อง ควรเปิดใจหาเวลาว่างมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระบายความในใจ เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีกว่าเดิม
หากิจกรรมที่สร้างอารมณ์ขัน
เหมือนที่เขาพูดกันว่าการหัวเราะเป็นยาวิเศษ เมื่อหัวเราะหรือยิ้มจะมีสารเอ็นโดฟินเป็นสารแห่งความสุขหลั่งออกมา เช่น ดูภาพยนตร์ตลก ละครตลก วาไรตี้ทอล์กโชว์ เพื่อช่วยให้มีความสุข คลายความกดดันลงสร้างความรู้สึกที่ดี และอายุยืนมากขึ้น
อยู่กับครอบครัว
ถ้ามีเวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ถึงเวลาที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ควรออกไปเที่ยวหรือทานข้าวนอกสักครั้ง ไม่จำเป็นต้องไปทุกวัน ถ้าไม่สะดวกไปไกลเที่ยวใกล้ๆบ้านก็ได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ไปเปิดหูเปิดตา แค่นี้ก็ช่วยส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
ทำกิจกรรมที่ชอบ ทำสิ่งที่ตนเองรัก
หากอยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ทำอะไร รู้สึกเบื่อเหงา ให้หากิจกรรมทำเพื่อฆ่าเวลา ออกไปพบปะผู้อื่นเปิดโอกาสให้เจอกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อความเพลิดเพลินและกระตุ้นสมอง เช่น เย็บถักปักร้อย ทำอาหาร ร้องเพลง เต้นรำ ไปวัดทำบุญ เข้าชมรม หรือทำงานเพื่อสังคม ตอบแทนสังคมบ้าง นอกจากผู้รับจะมีความสุข ผู้ให้ก็มีความสุขด้วยเช่นกัน
หรือผู้สูงอายุบางท่านไม่ชอบออกไปข้างนอก อาจจะชักชวนเพื่อนๆหรือพาลูกหลานมาเยี่ยมท่านที่บ้านเพื่อเพิ่มกำลังใจที่ดี
ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
นอกจากมีสุขภาพจิตดีแล้ว การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงก็เป็นสิ่งสำคัญด้วย จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบ5หมู่ ทานผักและผลไม้ให้มากๆ เน้นอาหารที่เคี้ยวง่าย กลืนง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด รวมถึงอาหารที่มีไขมัน งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่และยาเสพติดทุกชนิด
หากมีโรคประจำตัวควรรับประทานอาหารตามที่แพทย์กำหนดเท่านั้น และนอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย8ชั่วโมง
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การออกกำลังกายยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน แต่ผู้สูงอายุจะเน้นการออกกำลังกายเบาๆอย่างน้อยสัปดาห์ละ3ครั้งๆละ20-30นาที เช่น เดิน วิ่งช้า เต้นรำ รำมวยจีน เพื่อชะลอความเสื่อมด้านร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บปวด และมีอายุยืนมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
เล่มเกมฝึกสมอง
ถ้าร่างกายไม่เอื้ออำนวยต่อการออกกำลังกาย ให้เปลี่ยนเป็นฝึกสมองแทน เมื่ออายุเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าความจำไม่เหมือนเมื่อก่อน การฝึกสมองจะช่วยฝึกความจำ สมาธิ การรับรู้ และยังช่วยชะลออาการสมองเสื่อม เช่นการอ่านหนังสือเพื่อให้มีความรู้และข้อมูลเพิ่มขึ้น จดบันทึกประจำวันว่าทำอะไรไปบ้าง จดรายการซื้อของ การหยิบสิ่งของด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เพื่อให้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาได้ใช้งานทั้งสองข้าง การปิดไฟแล้วใช้มือคลำหาสิ่งของ เพื่อกระตุ้นประสาทด้านการสัมผัส
ปล่อยวาง คิดแต่สิ่งดีๆ
ให้คิดถึงแต่สิ่งดีๆรู้จักปล่อยวาง ไม่ควรคิดถึงแต่ความตาย มองความตายให้เป็นเรื่องปกติเพราะทุกคนล้วนต้องตายอย่างเท่าเทียมกัน หรือคิดถึงอดีตไม่ดีที่ผ่านมา ถ้ารู้ตัวว่าคิดลบอยู่ ควรหยุดความคิดนั้น เพื่อให้สมองจำแต่สิ่งดีๆ หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ดี ชีวิตก็จะมีความสุขไปด้วย
ผู้สูงอายุควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสุขภาพ หากมีโรคประจำตัวควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
สิ่งที่อันตรายสำหรับผู้สูงอายุที่สุดคือ “การปล่อยให้อยู่คนเดียว” ไม่ควรเก็บตัวหรือแยกตัวอยู่คนเดียว หากเกิดเรื่องไม่คาดฝันหรืออุบัติเหตุ จะไม่มีใครคอยช่วยเหลือเลยหรือมีปัญหาที่ค้างคาในใจ อยากมีคนช่วยคอยให้คำปรึกษา คำแนะนำ เพื่อให้ความเครียดผ่อนคลายลง
สรุปวิธีการทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข
ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขก็ต่อเมื่อยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจให้ได้ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อให้มีตนเองความสุข โดยการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ได้พบปะเพื่อนวัยเดียวกันและผู้คนใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆที่ดี คิดแต่เรื่องดีๆ
ไม่ใช่เพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องปรับตัวแต่คนในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้อย่างมีความสุข เริ่มจากการแสดงความกตัญญู ดูแลเอาใจใส่ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ไม่ทอดทิ้งท่าน ให้ความเคารพท่านเสมอ การมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์นั่นคือความสุขที่แท้จริง นอกจากต้องมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์นั่นคือความสุขที่แท้จริง