สภาพจิตใจผู้สูงอายุ

สภาพจิตใจผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ สิ่งสำคัญที่เราต้องใส่ใจดูแล

ร่างกายไม่ได้เป็นส่วนสำคัญอย่างเดียวที่ต้องดูแล รักษา สภาพจิตใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเช่นเดียวกัน มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาอยากมีสุขภาพจิตที่ดี การรักษาสุขภาพและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุต้องควบคู่กันไป ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ไม่เพียงแต่จะทำให้ไม่สบายใจ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราอีกด้วย

สารบัญเนื้อหา

วิธีสังเกตเมื่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเปลี่ยน

สาเหตุที่ทำให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลง

วิธีดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ

สรุป

วิธีสังเกตเมื่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเปลี่ยน

  • ทานอาหารน้อยลงกว่าปกติหรือแทบไม่ได้ทานเลย?
  • นอนหลับมากกว่าปกติหรือนอนไม่ค่อยหลับ?
  • รู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวนบ่อย?
  • มีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลง อะไรที่เคยชอบทำ/สนใจ กลับไม่ทำ/สนใจ หรือไม่สนใจตัวเองเหมือนเมื่อก่อน?
  • ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว?
  • การพูดคุยน้อยลง ความสัมพันธ์บางอย่างกับคนในครอบครัวเปลี่ยนไป?
  • รู้สึกไร้ค่า คิดว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน?

ที่กล่าวมาเป็นวิธีสังเกต สภาพจิตใจของผู้สูงอายุเบื้องต้น หากมีข้อใดข้อหนึ่งตรงนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นที่สภาพจิตใจของผู้สูงอายุกำลังเปลี่ยนแปลงไปต้องรีบช่วยเหลือ ทันที ถ้าปล่อยปะละเลยมานานจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า

       แต่อย่าเพิ่งกังวลไปครับ เรามาหาสาเหตุกันดีกว่าว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุเปลี่ยนไป? เกิดจากอะไร? เพื่อพร้อมรับมือและแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน

กลับสู่สารบัญ

สาเหตุที่ทำให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลง

  • การสูญเสียอวัยวะบางส่วนที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ขา แขนพิการใช้งานได้ไม่เต็มที่ สายตายาว ตาบอดไม่สามารถมองเห็นได้ปกติ
  • สูญเสียความสามารถทางร่างกาย เช่น ความจำเสื่อมต้องอาศัยการจดบันทึกช่วยจำ สำหรับบางท่านที่มีภาวะความจำเสื่อมรุนแรง ลืมว่าตัวเองเป็นใคร จำหน้าบุคคลในครอบครัวไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ
  • มีโรคประจำตัว อาการเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน รู้สึกสิ้นหวัง กังวลใจเพราะ คิดว่าไม่สามารถหายจากโรคเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ มีค่าใช้จ่ายสูง กลัวจะเป็นภาระของลูกหลาน
  • ขาดการติดต่อ ติดต่อไม่ได้กับสูญเสียบุคคลในครอบครัวหรือเพื่อน ลูกหลานไม่เคารพ รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
  • สภาพแวดล้อมทั้งภายในบ้านและภายนอก ที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่สะอาด มีเสียงดังรบกวน จากผู้คน สัตว์ หรือยานพาหนะต่างๆ
  • รู้สึกอารมณ์ไม่ดี ท้อแท้ เหนื่อย ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ความเครียด วิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้าเรื่องต่างๆ หมกมุ่น กังวลใจ คิดซ้ำซาก คิดถึงเรื่องในอดีตที่เสียดาย อยากย้อนเวลากลับไปแก้ไข และกลัวการทอดทิ้งในอนาคต
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ อาจจะเกิดจากนอนกลางวันมากเกินไป ทำให้ช่วงกลางคืนนอนไม่หลับ หรือหลับๆตื่นๆ ตื่นขึ้นมาตอนเช้ารู้สึกไม่สดชื่น
วิธีสังเกตสภาพจิตใจผู้สูงอายุ

ภาพจาก matichon.co.th

      สาเหตุเหล่านี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุ เกิดการเปลี่ยนแปลง หลายคนคิดว่าตนเองเป็นภาระทำให้สภาพจิตของท่านก็ไม่ดีไปด้วย สมาชิกในครอบครัวช่วยกันสังเกต สูงอายุที่อยู่ในบ้านท่านด้วยนะครับ  เพื่อไม่ให้ท่านรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว

แต่ถ้าคิดว่าผู้สูงอายุในบ้านเริ่มมีอาการเหล่านั้น เรานำวิธีดูแล และช่วยเหลือ สภาพจิตใจของผู้สูงอายุง่ายๆมาฝาก ลองนำไปใช้กันดูนะครับ

กลับสู่สารบัญ

วิธีดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด ส่วนใหญ่มักจะดื่มแก้เครียด หลังจากไม่ได้ดื่ม ก็กลับไปเครียดได้อีกครั้ง ซึ่งไม่มีผลดีอะไรเลยและยังทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย

ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะผู้สูงอายุบางท่านอาจจะมีอาการนอนไม่หลับ ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า จิตตกทั้งวัน เนื่องจากนอนในช่วงกลางวันมากเกินไป นอนหลับๆตื่นๆ หรือมีปัญหาทางด้านจิตใจ

ออกกำลังกายเบาๆ ขยับแขน-ขา ลุกเดินแกว่งมือ เต้นรำ เต้นลีลาศ รำมวยจีน นอกจากช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ยังส่งผลให้มีสุขภาพจิตดีอีกด้วย

ปรับเปลี่ยนทัศนคติ

มองโลกในแง่ดี ทำจิตใจให้สงบเพื่อดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุดีขึ้น เพราะการมองโลกต่างเป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเอง ถ้ามองโลกในแง่ดีสุขภาพจิตเราก็ดี คนรอบข้างจะรู้สึกดีไปด้วย แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้าย ไม่ว่าจะมองสิ่งต่างเราจะรู้สึกในแง่ลบ ทำอะไรก็ขัดหูขัดตาทุกอย่าง สุขภาพจิตของเราก็จะไม่ดีไปด้วย

ดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ

ภาพจาก theantix.com/

สร้างความสัมพันธ์

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้สภาพจิตใจของผู้สูงอายุดีขึ้นคือ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว ลูกหลาน ญาติพี่น้อง หาเวลาว่างพูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยนปัญหา ความกังวลใจเรื่องต่างๆ และทำกิจกรรมเล็กๆน้อยๆร่วมกันภายในบ้าน เช่นดูหนังด้วยกัน ทานขาวพร้อมกัน เป็นต้น

ออกไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือนัดทานข้าว รวมตัวกันตามโอกาสพิเศษ กลุ่มเพื่อนที่สนใจเรื่องเดียวกันหรือเพื่อนบ้านก็ได้ครับ

หรือหากิจกรรมพักผ่อน งานอดิเรกที่ชื่นชอบ เช่น อ่านหนังสือ ทำอาหาร ฟังเพลง ปลูกต้นไม้หรือสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา แก้เครียดในยามว่าง

จัดทริปท่องเที่ยวพักผ่อน กิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ตามสถานที่ธรรมชาติ  เข้าวัด ทำบุญ นั่งสมาธิ เป็นกิจกรรมที่ทำให้จิตใจสงบ ช่วยบรรเทาทุกข์และยังเป็นที่พึ่งสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่

         วิธีที่นำมาฝากกันวันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่ง สภาพจิตใจของผู้สูงอายุแต่ละท่านมีความชอบไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาก็แตกต่างกันด้วย

กลับสู่สารบัญ

 เพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ยังมีอีกหลายวิธีทำให้ผู้สูงวัยมีความสุข อ่านเพิ่มเติมบทความนี้

สรุปวิธีสังเกตและช่วยเหลือเมื่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลง

       ใครที่รู้สึกว่าสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเริ่มไม่ดี รู้สึกหม่นหมอง หากเป็นมานาน แล้วไม่รีบรักษาอาจจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า เพราะอาการเหล่านี้มักพบได้บ่อยจากผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคร้ายแรง เกิดขาดความเอาใจใส่และการสังเกตของคนในครอบครัว ที่สำคัญอย่าทอดทิ้งผู้สูงอายุ ควรดูแลและช่วยเหลือทั้งสภาพจิตใจของผู้สูงอายุและร่างกายควบคู่กันไปนะครับ ท่านจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

กลับสู่สารบัญ