หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ไบโพล่า” มาบ้างสิ่งที่ทุกคนเข้าใจคือ คนที่มีอาการ ทางจิต จากอารมณ์ดีแบบสุดโต่งหรือมีภาวะเหมือนคนเป็นโรคซึมเศร้า สาเหตุ ส่วนใหญ่มากจากความเครียด ปัญหาต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษา และการบำบัดอย่างต่อเนื่องสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ในทางตรงกันข้ามปล่อยให้เป็นระยะสุดท้าย อาจจะต้องพบกับบทสรุปที่น่าเศร้า
สารบัญเนื้อหา
สรุปไบโพล่าคืออะไร และมีวิธีดูแลอย่างไร
ไบโพล่าคืออะไร
โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงสลับกันไปมา ระหว่างอารมณ์ดีหรือมีอารมณ์คล้ายภาวะโรคซึมเศร้า และก้าวร้าวผิดปกติ ซึ่งแต่ละคนอาจจะเป็นนานหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนก็ได้ ถึงแม้ว่าจะรักษา หายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
ดังนั้นปัญหาของผู้ป่วยไบโพล่าจึงส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งต่อตนเอง รวมถึงความสัมพันธ์ของคนรอบข้างอีกด้วย
ทำความเข้าใจสั้นๆ สำหรับโรคไบโพล่าว่าเป็นอย่างไร คลิปนี้ได้เลยครับ
อาการของโรคไบโพล่า
อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่า ผู้ป่วยไบโพล่าจะมี 2 อารมณ์สลับกัน คือ อารมณ์ดี และ อารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งแต่ละอารมณ์จะแสดงออกมาซึ่งวัยที่พบมากที่สุดอยู่ในช่วงวัยรุ่น จะมีแสดงออกดังนี้
อารมณ์ดี
ช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยที่ผู้ป่วยจะแสดงออกดังนี้
- สนุกสนาน ร่าเริง ครึกครื้นกว่าปกติ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีเหตุผล
- มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เชื่อว่าตนเองเป็นใหญ่หรือสำคัญ โดยยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก เช่น คิดว่าตนเองมีพลังพิเศษ ร่างทรงประทับ คุยกับสิ่งที่มองไม่เห็นได้ เป็นต้น
- มีพลังงานเหลือเฟือ แม้ว่าจะนอนน้อย แต่ร่างกายก็ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย
- พูดเร็ว พูดเยอะ พูดไม่ยอมหยุด หรือพูดเสียงดัง
- วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง ไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เปลี่ยนใจเร็ว โดนกระตุ้นจากสิ่งเร้านอกได้ง่าย ด้วยความที่สนใจหลายอย่าง ทำให้วอกแวกง่าย และไม่สามารถทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานจนทำให้งานไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน
- ความคิดเร็ว คิดแบบหุนหันพลันแล่น หรืออาจตัดสินใจผิดพลาด มีความคิดหลายอย่าง ทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกัน บางทีโครงการนั้นยังไม่เสร็จก็คิดอยากทำอีกอย่างทันที
- ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ หากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง เช่น ดื่มสุรามากๆ เล่นการพนัน เสี่ยงโชค หรืออยากใช้เงินมากๆ ใช้จ่ายเกินตัว
อารมณ์ซึมเศร้า
ช่วงอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งจะคล้ายกับโรคซึมเศร้าจะแสดงออกเกือบตลอดเวลาและติดต่อกับอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ไม่ร่าเริง ซึมเศร้า เบื่อหน่าย จู่ๆก็ร้องไห้โดยที่ไม่มีเหตุผล
- หงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด
- เบื่ออาหาร หรืออยากอาหารมากกว่าปกติ จนทำให้น้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่มอยากรวดเร็ว
- ขาดสมาธิ ความจำแย่ลง มักจะหลงๆลืมๆ
- ไม่อยากนอน นอนไม่หลับหรือหลับๆตื่นๆ ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลียและไม่มีแรง
- สนใจสิ่งรอบตัวน้อยลง ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อยากอยู่คนเดียว อยู่เฉยๆไม่อยากทำอะไร หรืออะไรที่เคยชอบทำก็จะไม่อยากทำ
- มองโลกในแง่ร้าย หมกมุ่นอยู่กับความคิดเดิมๆ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระผู้อื่น
- มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย
สาเหตุของไบโพล่า
โรคไบโพล่าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงผิดปกติ แบ่งออกได้เป็นดังนี้
- พันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อ แม่หรือพี่น้องโดยตรงมีโอกาสสูงมากกว่าพันธุกรรมที่มาจากญาติ และยังมีโอกาสเป็นโรคไบโพล่าสูงกว่าคนทั่วไป หากมีครอบครัวที่เป็นโบโพล่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกที่เกิดออกมาต้องเป็นไบโพล่า 100% เพราะอาการ ของโรคนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่างด้วยเช่นกัน
- ร่างกาย การทำงานผิดปกติของสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ รวมถึงความผิดปกติจากโรคบางอย่าง ที่มาจากไทรอยด์ ระบบฮอร์โมนร่างกาย เกิดจากสารอะดรีนาลีน(กระตุ้นระบบประสาท เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และตอบสนองต่อความกลัว ความเครียด) เซโรโทนิน(ควบคุมความรู้สึก เช่น รู้สึกอยากอาหาร) และโดปามีน(ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ตื่นตัว กระฉับกระเฉง)ในระดับที่ไม่สมดุลกัน
- สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่ไม่ได้เป็นสาเหตุ ของโรคโดยตรง ที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ผู้ป่วยแสดงลักษณะของไบโพล่าออกมา เช่น ความเครียดจากการเรียน การทำงานในชีวิตประจำวัน การปรับตัวเข้ากับสังคม หรือเจอปัญหาทางสังคมหรือคนรอบข้าง การใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ก็มีผลเช่นเดียวกัน
วิธีการรักษาโรคไบโพล่า
โดยโรคนี้จะใช้วิธีการบำบัดด้วยยาเป็นหลัก แพทย์จะจ่ายยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านโรคจิต ยาคลายกังวล หรือยาโรคซึมเศร้า(สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย) จะช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้มั่นคงและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และให้รับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคน
อีกวิธีหนึ่งเข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โดยที่แพทย์จะถามข้อมูลส่วนตัว ตรวจร่างกาย สภาพจิตใจด้วยแบบสอบถาม เพื่อวิเคราะห์อีกทั้งยังพูดคุยกับผู้ป่วยพร้อมให้คำแนะนำ รวมถึงวิธีการดูแลตนเองที่ผู้ป่วยควรจะรู้เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น และการรับมือกับวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ
หากผู้ป่วยที่เป็นไบโพล่าใส่ใจดูแลตนเอง มีโอกาสหายจากความผิดปกติที่เป็นอยู่และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิมประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่โรคนี้มีโอกาสเป็นอีกครั้งได้สูงมาก ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบำบัดให้หาย อีกทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุของไบโพล่าอีกด้วย
การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยไบโพล่า
- สุขภาพจิตให้ดี หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เผชิญความเครียด หรือปัญหา
- เข้ารับการบำบัดและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอารมณ์ให้คงที่
- ไม่เลิกยากลางคัน เพราะอาจจะคิดว่าหายแล้ว เลยหยุดกิน แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่ทำให้กำเริบและกลับมาเป็นอีกครั้ง
- หาคนที่เข้าใจ ให้กำลังใจและสามารถพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่พบเจอได้อย่างสบายใจ
นอกจากนี้อย่ามองข้ามหรือต่อว่า แต่ให้สนใจพยายามพูดคุย ให้กำลังใจและเอาใจใส่จากครอบครัวและคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น ถ้ารู้สึกว่าแย่ลงกว่าเดิม แนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำรักษาโดยเร็ว
สรุปโรคไบโพล่าคืออะไร มีวิธีการดูแลอย่างไร
ใครที่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นไบโพล่าเสมอไป แต่อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด ปัญหา รวมถึงสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน แนะนำให้ไปตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อทำการรักษา ให้เร็วที่สุด และอยากให้คนรอบข้างเข้าใจว่า โรคไบโพล่า ไม่ใช่โรคจิต หรือคนบ้า ที่เป็นโรคที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ แต่สามารถหายได้ด้วยยาและการบำบัด รวมถึงการเข้าใจ และการเอาใจใส่จากคนรอบข้างด้วย หากสงสัยว่าคนใกล้ตัวเป็นโรคนี้ ควรรีบพาไปตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการบำบัดจากแพทย์ทันที