เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีภาวะท้องผูกหรือถ่ายยาก คิดว่าเป็นเรื่องปกติเพราะส่วนใหญ่มักเป็นแค่ชั่วคราวและไม่รุนแรง แต่ความจริงแล้วหากปล่อยไว้จนเรื้อรัง อาจส่งผลเสียต่อตนเองหลายอย่าง ดังนั้นเราต้องเข้าใจถึงสาเหตุ มีวิธีแก้ทำไงดี เพื่อช่วยบรรเทาให้อาการทุเลาลงได้
สารบัญเนื้อหา
ท้องผูกคืออะไร
หากรู้สึกว่าลำบาก ความถี่ในการขับถ่ายผิดปกติไม่สม่ำเสมอ ซึ่งปกติบางคนอาจจะถ่าย 3ครั้ง/วัน แต่สำหรับคนที่มีอาการ ท้องผูกจะถ่ายเพียง 3 ครั้ง/สัปดาห์หรืออาจจะน้อยกว่านั้นและทำให้การขับถ่ายเป็นเรื่องลำบากกว่าเดิม
สังเกตเมื่อเป็นท้องผูก
- มีการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือน้อยกว่าปกติ
- ถ่ายยาก ต้องใช้แรงเบ่งและเวลาถ่ายมากกว่าปกติ
- อุจจาระแข็ง ก้อนใหญ่ หรือเป็นเม็ดเล็กๆ
- มีเลือดปนออกมา
- แน่นท้อง รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่สุด
- ท้องอืด มีลมเยอะ รู้สึกเกร็ง
- รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย
ใครเสี่ยงเป็นบ้าง?
เอาจริงๆท้องผูกสามารถพบได้ทุกช่วงวัย แต่พบได้ในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชายในช่วงทุกวัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่อายุสูงกว่า 65 ปี หรือคนท้อง หลังคลอดหรือหลังผ่าตัด เนื่องจากลำไส้มีการบีบตัวน้อยลง
ท้องผูกเรื้อรัง
จริงๆแล้วท้องผูกไม่ใช่แค่การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งและความสม่ำเสมอ ถ้ายังขับถ่ายได้ปกติ สบายๆ ไม่ต้องเบ่งอุจจาระหรือมีอาการ ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ถึงแม้ว่าจะถ่ายน้อยลงก็ถือว่าไม่ผิดปกตินะครับ
แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามถ้ามีความรู้สึกว่าขับถ่ายยาก หรือรู้สึกแบบที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าเป็นท้องผูกอย่างแน่นอนและ
ควรระวังเรื่องแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอว ริดสีดวงทวาร รอยฉีกรอบรูทวาร คัน ปวดและมีเลือดออกด้วย หรือเป็นลำไส้ปลิ้น เป็นต้น
ยิ่งถ้าเป็นติดต่อกัน 3 เดือน จะทำให้กลายเป็นท้องผูกเรื้อรัง ถ้าร้ายแรงกว่านั้นอาจเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียเป็นต้น
**ถ้ารู้สึกว่าเป็นแบบนี้นานติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันทีนะครับ**
สาเหตุที่ทำให้เป็นท้องผูก
- การทำงานของลำไส้ผิดปกติ ทำงานช้า ลำไส้แปรปรวนเฉียบพลันหรือมีเนื้องอกในลำไส้
- รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ไม่ทานผักหรือผลไม้
- ดื่มน้ำน้อย
- ไม่ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
- ชอบกลั้นอุจจาระ
- ขับถ่ายไม่ถูกวิธี
- ความเครียด คิดมากหรือไม่คุ้นเคยกับสถานที่ เช่น ไปพักค้างแรมที่อื่นเป็นเพราะไม่ชินจนต้องกลั้นไว้ขับถ่ายที่บ้าน
- ตั้งครรภ์ คนท้อง เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นและฮอร์โมนโมทิลินลดลง ทำให้การเลื่อนตัวในลำไส้นานขึ้นจนเกิดท้องผูก
- กล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่าย ไม่มีแรงเบ่งหรือกล้ามเนื้อหูรูดมีการเกร็งตัวหรือไม่คลายตัวในขณะที่ขับถ่าย
- ผลข้างเคียงของยา เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด ยาลดความดัน ยาคุมกำเนิด
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ แคลเซียมในเลือดสูง โรคทางสมอง โรคเกี่ยวกับลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่
แม้จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือมีผลข้างเคียงอย่างอื่นด้วย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด อุจจาระมีเลือดควรทำไงดี?
“ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมดีกว่าและอย่าปล่อยให้กลายเป็นท้องผูกเรื้อรัง นะครับ”
วิธีแก้ท้องผูกง่ายๆทำไงดี
วิธีแก้มี 2 ทางเลือก คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และ การผ่าตัด
โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- รับประทานของที่มีกากใย ไฟเบอร์สูง โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช
- ดื่มน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย1.5-2 ลิตร และไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ
- หมั่นอุจจาระให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดดื่มน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาถ่ายหรือยาระบายที่ไม่จำเป็นติดต่อกันเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- ไม่ควรกลั้นอุจจาระ ให้ขับถ่ายทันทีเมื่อรู้สึกครั้งแรก โดยเฉพาะหลังตื่นนอนหรือหลังรับประทานอาหาร มักจะรู้สึกอยากขับถ่ายหลังทานข้าวประมาณ 5-30 นาที ดังนั้นควรปรับเวลาตื่นนอนให้เร็วขึ้น
- รับประทานอาหารเช้าทุกวันเพราะจะช่วยให้กระเพาะขยายตัวแล้วไปกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานทันที
- ปรับเปลี่ยนท่านั่งขับถ่ายให้เหมาะสม คือ นั่งยองหรือนั่งงอเข่า
** ที่สำคัญไม่ควรพยายามออกแรงเบ่งเพราะอาจส่งผลให้เป็นริดสีดวงทวาร
แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแทน **
การผ่าตัด
เป็นทางออกสุดท้ายเมื่อแก้ท้องผูกด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผลแล้ว แต่วิธีนี้ต้องปรึกษาและเข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยแก้ปัญหาตรงลำไส้ โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออก แต่จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอว ท้องร่วง กลั้นอุจจาระไม่อยู่
แต่ถ้าหากอายุมากกว่า 45 ปี แล้วมีอาการ อื่นนอกจากท้องผูก เช่น ถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักลด คลำเจอก้อนในช่องท้อง แพทย์จะใช้กล้องส่องเข้าไปในลำไส้ใหญ่ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นลำไส้อักเสบ เนื้องอก หรือโรคมะเร็งหรือเปล่า
เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคนถ่ายยาก
- เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาให้ดื่มน้ำอุ่นในตอนท้องว่าง 2 แก้ว ช่วยให้ลำไส้รัดตัว
- ก้มตัวลงเอามือเท้าเข่าไว้พร้อมแขม่วท้อง
- ขณะที่นั่งอยู่บนโถส้วม ให้ใช้ฝ่ามือนวดหน้าท้องวนตามเข็มนาฬิกาช่วย
- เลือกส้วมนั่งยองดีกว่าส้วมชักโครก ถ้าที่บ้านเป็นส้วมชักโครกให้โค้งตัวด้านหน้าลงมาเพื่อให้มีแรงเบ่ง
อาหารแก้ท้องผูก
- มะขามเปียก นำมาขยำกับน้ำก่อนเข้านอนหรือตอนเช้า หรือนำมาจิ้มเกลือทานแล้วดื่มน้ำตามมากๆ
- ลูกพรุนแห้ง ทานได้ทั้งผลหรือดื่มเป็นน้ำวันละประมาณ 1.5-2 ลิตรเป็นประจำก็ได้ แนะนำให้รับประทานตอนกลางคืนก่อนเข้านอน แต่ไม่ควรทานมากหรือบ่อยเกินไป เพราะลูกพรุนมีน้ำตาลสูงโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
- กล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าสุกจะมีไฟเบอร์ที่ช่วยเพิ่มกากอาหาร ให้ลำไส้
- มะละกอ ช่วยกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
- แอปเปิ้ล ช่วยเพิ่มกากใยและช่วยป้องกันโรคหวัดได้อีกด้วย
- มะม่วงสุก มีทั้งวิตามินเอ วิตามินซี และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ระวังไม่ควรทานเยอะเกินไปเพราะมีน้ำตาลมาก
- ส้ม เต็มไปด้วยวิตามินซีและช่วยเพิ่มกากใย แนะนำให้ทานส้มวันละ 1-2 ลูกเป็นแระจำแล้วท้องผูกจะดีขึ้น
- ชาเขียว มีคาเฟอีนช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ
- โยเกิร์ต จะช่วยเปลี่ยนไบโอติกให้เป็นจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ แนะนำให้กินวันละ 1 ถ้วย
สรุปวิธีแก้ไม่ให้เป็นท้องผูก
ปัญหาท้องผูกไม่ใช่เรื่องธรรมดา หากปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง อาจส่งผลแทรกซ้อนให้เป็นริดสีดวง มีรอยฉีกรอบรูทวาร รู้สึกคัน ถ้าร้ายแรงกว่านั้นอาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เลยก้ได้ ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการมานานควรรีบรักษากับแพทย์ให้เร็วที่สุดนะครับ